วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พรรณไม้ ในวรรณคดีไทย

  
 "ที่เชิงเขาเหล่าพันธุ์มิ่งไม้         ลมพัดกวัดไกวอยู่หันเหียนรกฟ้าขานางยางตะเคียน    กันเกราตระเบาตระเบียนแลชิงชัน
สนสักกรักขีต้นกำยาน                  ฉนวนฉนานคล้าคลักจักจั่น
ปรางปรูประดู่ดูกมูกมัน               เหียงหันกะเพราสะเดาแดง"





กฤษณา
Aquilaria malaccensis Lam.
(THYMELAEACEAE)




เดินมาพากันชมพฤกษาสูง         ยางยูงแก้วเกดกฤษณา
กระลำพักสักสนคนทา                           ต้นพะวาขานางยางทราย
                                                             อิเหนา : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
        
        กฤษณาเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่  ต้นค่อนข้างคดงอ เนื้อไม้อ่อนเป็นสีขาว มีเสี้ยน ใบ สีเขียวเข้ม เรียบ เป็นมัน ใบยาวเรียวค่อนข้างแข็ง ประมาณ 15 เซนติเมตร  เห็นเส้นในได้ชัด  ดอกช่อ  สีขาวเป็นช่อใหญ่ดก ออกเต็มต้น หอมฉุน ผล รี กลม แบน เปลือกแข็ง มีขนสีเทา ผลแก่จะแตก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
        เนื้อไม้กฤษณาสามารถนำมาสกัดน้ำหอมได้ เนื้อในเป็นยาบำรุงหัวใจ กระตุ้นหัวใจ ขับลม น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคเรื้อน โรคผิวหนัง ถิ่นกำเนิด แถบเขตร้อนของเอเชีย 
เช่น  มาเลเซีย  จีน บอร์เนียว อินเดีย และไทย  แถบจังหวัด ตราดและจันทบุรี  


 
ข่อย
Streblus asper Lour.
(MORACEAE)
Siamese rough bush, Tooth brush tree


 กระสังรังรักเต็งแต้ว                เกล็ดแก้วกันเกราไกรกร่าง
           ตะเคียนแคข่อยขานาง                      ขวิดขวาดปริงปรางประยงค์…”
                                                             รามเกียรติ์ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
          ข่อย หรือจะเรียกว่า กักไม้ฝอย หรือ ส้มพอ ก็ได้ เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5-10 เมตร เปลือกสีเทา
ขรุขระ ยอดเป็นพุ่มรูปไข่ทึบ กิ่งอ่อน ยาว ขนสาก ใบเดี่ยว ออกสลับ  รูปรีแกมรูปไข่กลับ คล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาดกว้าง 4 ซม. ยาว 5 ซม. โคนและปลายสอบมน ขอบจักแบบฟันเลื่อย  เนื้อใบหนา ผิวสากทั้ง 2 ด้าน ออกดอกเป็นช่อ มี กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ดอกเพศเมียมีสีขาว  ดอกเพศผู้มีสีเขียวอ่อน ออกเป็นช่อกลมเล็กๆ เมื่อสุกมีสีเหลือง เมล็ด มีเมล็ดเดียว ออกดอกเกือบตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการ เพาะเมล็ด  ตอนกิ่ง  
        เปลือกต้นข่อยใช้ทำกระดาษข่อย รักษาโรคผิวหนัง  โรคท้องร่วง ขับลม  รำมะนาด และริดสีดวงทวาร  กิ่งทุบให้นิ่มใช้สีฟัน  ผลสุกเป็นอาหารของนกและสัตว์ป่า  ยางใช้กำจัดแมลง  ใบสดปิ้งไฟชงน้ำดื่ม เป็นยาระบายอ่อนๆ ข่อยขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้ง 

ทองกวาว
Betea monosperma O. Ktze.
(LEGUMINOSAE - PAPILIONOIDEAE)

  ทองกวาวคราวดอกแดง               เชิงจ่าแจงแคงเหียงหัน
                                                กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
        ทองกวาวเป็นไม้ต้น  สูง 6-12 เมตร  เปลือกต้นเป็นปม ปุ่ม  ไม่เรียบเกลี้ยง ผิวสีน้ำตาลหม่น ใบสีเขียว พื้นผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ใบอ่อนเป็นก้านยาว  ก้านหนึ่งมีใบย่อย 3 ใบ ใบค่อนข้างกลม  กว้าง 6-18 ซม. ยาว 7-20 ซม. ดอกออกเป็นช่อคล้ายดอกทองหลาง  สีแดง ขนาดใหญ่  ผลเป็นฝักแข็ง เปลือกนอกมีสีน้ำตาลอ่อน  ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็ก  สีน้ำตาลแก่  การขยายพันธุ์ใช้วิธีเพาะเมล็ด  
        ประโยชน์  ใบ ดอก ต้มกินเป็นยา  แก้ปวด ถอนพิษไข้  เมล็ด ฝัก ต้มกินขับถ่ายพยาธิ  ถิ่นกำเนิดอยู่ใน อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีนและอินโดนีเซีย เกิดขึ้นเองตามพื้นที่ลุ่มต่ำหรือ ป่าราบ มีมากทางภาคเหนือ ตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ 


ประดู่  
Pterocarpus indicus  Willd.
(FABACEAE)

                                         ประดู่ลำดวนยมโดย                           ลมโชยกลิ่นชวนหอมหวาน
                              นางแย้มสายหยุดพุดตาล                              อังกาบชูก้านกระดังงา
                                                                                   รามเกียรติ์  : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1


        ประดู่เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่มาก ใบมักจะร่วงในฤดูแล้ง  ซึ่งตกอยู่ในราวเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเมษายน พอฝนตกได้รับความชื้นมากเข้าก็ผลิดอกออกใบสะพรั่งเต็มต้น ดอกเล็กสีเหลืองสด ส่งกลิ่นหอมระรื่นฟุ้งไปรอบๆบริเวณ นอกจากมีดอกอันหอมเย็นแล้ว ต้นประดู่ยังเป็นไม้ร่ม เพราะแผ่ออกเป็นพุ่มงดงาม ให้ความร่มเย็นดีมาก  จึงมักเห็นปลูกกันตามวัดวาอารามต่างๆ และยังจะใช้เป็นต้นไม้ปลูกข้างถนนเป็นอย่างดีอีกด้วย การปลูกจะปลูกด้วย กิ่งตอนหรือจะใช้เมล็ดเพาะก็ได้
        ประดู่เป็นพรรณไม้จากอินเดีย ชอบแสงแดดจัด ความชื้นสูง  ต้องการน้ำปานกลาง  สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด  แต่จะให้ดีควรเป็นดินร่วนซุย ดังนั้นจึงเห็นปลูกกันตามริมถนนใน กทม. ทั่วไป 


ผักตบชวา
Water  Hyacinth
Eichhornia  crassipes, Solms.
(Pontederiaceae)


               ชุมนักผักตบซ้อน              บอนแซง
บอนสุพรรณหั่นแกง                     อร่อยแท้
          บอนบางกอกดอกแสลง                เหลือแล่  แม่เอย
          บอนปากยากจแก้                          ไม่สริ้นลิ้นบอน 
                                                                  โคลงนิราศสุพรรณ :  สุนทรภู่ 
        ผักตบเป็นพืชน้ำประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว  ลอยน้ำได้  งอกงามได้โดยไม่ต้องมีที่ยึดเกาะ  สามารถแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก  จัดเป็นวัชพืชน้ำที่สร้างความเสียหายให้กับการชลประทาน  การประมง  การเกษตร  การสาธารณสุข  และด้านเศรษฐกิจ  เป็นอย่างมากแต่อย่างไรก็ตามในแง่ของประโยชน์  ผักตบสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์  ใช้นำมาถักเป็นเครื่องเรือน  ใช้แก้ปัญหาน้ำเสีย  ใช้เป็นวัสดุในการเพาะเห็ดฟาง  ใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ  ใช้ผลิตปุ๋ยหมัก   ใบเป็นใบเดี่ยว  แผ่นใบคล้ายรูปหัวใจ  เป็นมันหนา  ก้านใบพองออกตรงช่วงกลาง  ภายในมีลักษณะเป็นรูพรุน  เนื้อฟ่าม  ช่วยพยุงลำต้นให้ลอยน้ำได้  ดอกมีลักษณะเป็นช่อ  ดอกย่อยแต่ละดอกมีสีฟ้าอมม่วงแกมเหลือง  ไม่มีก้านช่อดอก  ดอกมีกลีบ ๖ กลีบ  ตอนที่ดอกยังไม่บานจะมีใบธงหุ้มอยู่  เมื่อดอกออกพ้นใบธงดอกจะบานทันที  การขยายพันธุ์  ใช้ ไหล”  ที่แตกมาจากลำต้นแม่  หรือเมล็ด   ด้านสมุนไพร  ใช้แก้พิษภายในร่างกาย  และขับลม  ใช้ทาหรือพอกแก้แผลอักเสบ

   
 เบญจมาศ
Chrysanthemum morifolinm Ramat. and hybrid
(COMPOSITAE)




           กิดาหยันน้องน้อยสอยสาวหยุด           เบญจมาศชาตบุษย์ต่างต่าง
        บ้างโน้มเหนี่ยวหักกิ่งปริงปราง                  มาถวายหลายอย่างให้นางชม
                                                                               อิเหนา : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร.2
        เบญจมาศเป็นไม้ล้มลุกกลางแจ้ง  สูง 30-90 ซม. แตกกิ่งก้านสาขาไม่มาก ตามกิ่งก้านและต้นมีขนละเอียด  ใบ เรียวรี สีเขียว  ใบต่างกันแล้วแต่พันธุ์ ซึ่งมีมากมาย  ดอกมีหลากสี ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ แต่ละลักษณะมีดอกกลมเหมือนกันหมด  กลีบดอกซ้อนกันมากหรือน้อยแล้วแต่พันธุ์  สีต่างๆ กัน เช่น ชมพู แดง ขาว ม่วงอมน้ำเงิน ม่วงและเหลือง ต้องการแสงแดดจัด  ปลูกในดินที่ร่วนผสมอินทรีย์วัตถุจะช่วยให้ดอกดก  การขยายพันธุ์ใช้การเพาะเมล็ด  ถิ่นกำเนิดอยู่ในจีน  เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของเอเซียตะวันออก  
        ประโยชน์ ทั้งต้นใช้รักษาโรคตับ ปวดศีรษะ วิงเวียน  บำรุงประสาท  ใบและดอก กินเพื่อรักษาโรคนิ่ว วัณโรค โรคต่อมน้ำเหลือง ใบและต้น ตำเป็นยารักษาโรคผิวหนัง และแผลน้ำร้อนลวก ใช้เป็นไม้ประดับ หรือไม้ตัดดอก ดอกใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์