วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของ "ศรีธนญชัย"

             
 
       
        การถ่ายทอดเรื่องราวของศรีธนญชัย ยอดตลกหลวง ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง โดยมีบทเริ่มต้นดังนี้         กาลครั้งหนึ่งยังมีสองสามีภรรยาอยู่กินด้วยกันมาอย่างมีความสุขเป็นเวลา หลายปี แต่กลับยังไม่มีบุตร "นายชัย" ผู้เป็นสามีจึงปรึกษากับ "นางศรี" ภรรยาของตนว่าควรปลูกศาลเพียงตาทำพิธีบวงสรวงเทพยดา เพื่อขอทายาทไว้สืบสกุล ร้อนถึง พระอินทร์ เมื่อรู้สึกว่าพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ เกิดแข็งกระด้างจึงเล็งทิพยเนตรลงมาตรวจดูความเป็นไปของชาวโลก
        ครั้นทราบความประสงค์ของสองสามีภรรยาก็มีจิตเมตตาคิดจะช่วย สงเคราะห์ให้สมความปรารถนา จึงมีบัญชาให้เทวบุตรองค์หนึ่งจุติลงมาในครรภ์ของนางศรี ในค่ำคืนนั้น นางศรีฝันว่าได้ไปเที่ยวเล่นและพบเขาพระสุเมรุขวางอยู่ จึงผลักเบี่ยงให้พ้นทาง ครั้นเห็นพระจันทร์ลอยเด่นอยู่ตรงหน้าได้คว้าเอามาถือไว้ พลันนางศรีก็ตกใจตื่นรีบปลุกสามีเล่าความฝันให้ฟัง รุ่งเช้านางได้ไปหาท่านสมภารที่วัดหมายให้ช่วยทำนายฝัน
        บังเอิญท่านสมภารออกไปฉันเพลนอกวัด สามเณรซึ่งเป็นผู้เฝ้ากุฏิจึงทำนายให้เองว่า นางจะให้กำเนิดบุตรชาย และเมื่อโตขึ้นเขาผู้นั้นจะได้เป็นยอดตลกหลวงผู้มีชื่อเสียง นางศรีดีใจรีบกลับไปบอกนายชัยสามี ครั้นท่านสมภารกลับมาได้ฟังเรื่องราวจากสามเณรก็ดุบอกว่าทำนายผิด เพราะลูกของเขาจะเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือคนทั้งปวงต่างหาก

             เมื่อครบกำหนดคลอดเพื่อนบ้านได้มาเยี่ยม และนำข้าวของมาให้เป็นอันมาก พอนางศรีแข็งแรงดีแล้วจึงชวนสามีนำลูกชายไปหาท่านสมภารให้ช่วยตั้งชื่อ ท่านสมภารได้นำชื่อของแม่คือ "ศรี" นำหน้า ปิดท้ายด้วยชื่อพ่อคือ "ชัย" โดยมีคำว่า "ธนญ" อยู่ตรงกลางจึงกลายเป็น ศรีธนญชัย ซึ่งเป็นเด็กที่ช่างพูดช่างเจรจา พ่อกับแม่และชาวบ้านต่างพากันให้ความรักและเอ็นดู
        ประวัติศรีธนญชัยนั้นมีอยู่หลายเวอร์ชั่น ทางภาคเหนือและอีสานท่านเรียกว่า "บักเสี้ยงเมี้ยง" คำว่า "เสี้ยง" นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า "เชียง" หรือ "เซียง" ซึ่งเป็นคำเรียกคนเคยบวช เหมือนกับคำว่า "ทิด" ซึ่งใช้เรียกคนเคยผ่านการบวชพระมาแล้วในภาคกลาง "เซียง"หรือ "เสี้ยงเหมี้ยง" ก็คือ "ทิดเหมี้ยง" ส่วนคำว่า "เหมี้ยง" ซึ่งคู่กับคำว่า "หมาก" นั้น หวังว่าคงไม่ต้องแปล
        แต่สมัยเป็นสามเณรนั้น "เซียงเหมี้ยง" ใช้ไหวพริบเอาเหมี้ยงของพ่อค้ามากินฟรีๆ โดยการพนันกันว่า พ่อค้าจะหาบเหมี้ยงข้ามน้ำมาโดยที่เหมี้ยงไม่เปียกได้หรือไม่ ? ปรากฏว่าพวกพ่อค้าหาบเหมี้ยงลุยน้ำข้ามมา หาได้หาบเหมี้ยงข้ามน้ำมาไม่ ศรีธนญชัยปรากฏตัวในบทนี้ บทที่ได้เหมี้ยงไปกินฟรี "สี่ซ้าห้าบาท" คือกวาดเรียบ เอาทั้งซ้าคือตะกร้าหรือชะลอมและบาตรพระมาใส่เหมี้ยงฟรี จนเหมี้ยงมีให้ไม่พอปรับ นับเป็นการขึ้นชื่อลือชาในด้านไหวพริบปฏิภาณเป็นอย่างยิ่ง
        สมัยราชาธิปไตยนั้น ไม่มีการคัดค้านต่อหน้าพระพักตร์ ใครขืนขัดก็จะโดนขัดทั้งดอกทั้งต้นจนตัวตาย การแสดงออกในทางการเมืองของคนไทยสมัยโบราณจึงต้องแสดงผ่านตัวละครไปในแนวตลก และผู้ที่จะสามารถต่อกรกับพระราชาได้ก็เห็นจะมีเพียงพระสงฆ์เท่านั้น ดังนั้นพระสงฆ์หรือตัวแทนของพระสงฆ์จึงถูกอุปโลกน์ให้เป็นตัวแทนฝ่ายประชาชน เข้าไปคานอำนาจกับพระราชาในการบริหารกิจการบ้านเมือง รวมถึงการวินิจฉัยอรรถคดีต่างๆ
        ศรีธนญชัยจึงได้ฉายาว่า "ตลกหลวง" บวกกับภูมิปัญญาแบบไทยๆ ที่ใช้ความได้เปรียบเสียเปรียบโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์กติกา แต่อาศัยเพียงว่าใครไหวพริบดีกว่าก็ได้ไป ส่วนใครโง่เง่าเอาไม่ทันก็ปล่อยให้มันเป็นฝ่ายแพ้ ไม่มีใครเหลียวแล ทุกคนสนใจก็แต่ฝ่ายชนะ ชัยชนะแบบศรีธนญชัยซึ่งไม่โปร่งใสในทางคุณธรรมจริยธรรม ไร้ทั้งจรรยาและมารยาท กลับกลายเป็นฮีโร่ในใจของคนไทย
        ศรีธนญชัย..เป็นผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือทางด้านสติปัญญา แต่ทำไมนะทำไม..เขาจึงกลับไม่ใช่คนน่าคบหา ความฉลาดของเขา..ไม่ได้ทำให้คนชื่นชมเขาหรอกหรือ.. มาดูสิว่า..ปฏิภาณและไหวพริบนั้น ทำให้เขารอดปลอดภัยมาได้อย่างไรกัน ชีวิตศรีธนญชัยมีทั้งด้านดีคือรู้จักใช้ปัญญา แต่อีกด้านหนึ่งใช้ความฉลาดของตนเอาเปรียบคนอื่น ไม่นึกถึงความผิดชอบชั่วดี สุดท้ายต้องรับกรรมที่ก่อไว้...?
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น