วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

การวิจารณ์วรรณกรรมโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้าง

          หากจะพิจารณาจากวรรณกรรมแล้ว  จะเห็นว่าการสร้างวรรณกรรมต้องเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ของวรรณกรรมมาสร้าง  ไม่ว่าจะเป็น  โครงเรื่อง  ตัวละคร  ฉาก  บทสนทนา  สัญลักษณ์  แก่นเรื่อง  ภาษา  ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญจะขาดไม่ได้  โครงสร้างดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่นักวิจารณ์มุ่งพิจารณา  ดังนั้น  การวิจารณ์วรรณกรรมโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้าง  จึงเป็นแนวทางการวิจารณ์ที่มุ่งให้ความสำคัญกับองค์ประกอบภายในของวรรณกรรมว่ามีคุณภาพดีเด่นเพียงไร  โดยผู้วิจารณ์ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการวิเคราะห์องค์ประกอบหรือโครงสร้างของวรรณกรรม  เมื่อมีพื้นฐานด้านการวิเคราะห์แล้วจึงสามารถวิจารณ์โดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างได้อย่างมีคุณค่า
 
แนวคิดทฤษฎีโครงสร้าง
         ทฤษฎีโครงสร้างเป็นการวิจารณ์วรรณกรรมที่มุ่งพิจารณาองค์ประกอบหรือโครงสร้างของวรรณกรรมเป็นหลัก  โดยหยิบประเด็นเพียงบางส่วนจากองค์ประกอบของโครงสร้างของวรรณกรรม  เช่น  การเปิดเรื่อง  ดำเนินเรื่อง  ปิดเรื่อง  ตัวละคร  ฉาก  บทสนทนา  การใช้สัญลักษณ์  แก่นเรื่อง  ฯลฯ  ที่ผู้วิจารณ์เห็นว่าเป็นจุดเด่นหรือจุดด้อย  โดยนำประเด็นนั้นมาวิจารณ์  ซึ่งอาจวิจารณ์โครงสร้างทั้งหมดทุกประเด็นหรือเพียงบางประเด็นก็ได้
 
ลักษณะการวิจารณ์แนวโครงสร้าง
                ลักษณะการวิจารณ์ของทฤษฎีโครงสร้างจะนำองค์ประกอบต่างๆ ของโครงสร้างวรรณกรรมมาวิจารณ์  เช่น  อ่านเรื่องสั้นแล้วพบว่าเรื่องนี้เด่นในการหน่างเรื่อง  เราก็วิจารณ์ในลักษณะเด่นที่ปรากฏ  หรือพบว่าด้อยในการนำเสนอตัวละคร
                บางครั้งอาจจะวิจารณ์ภาพรวมตั้งแต่การเปิดเรื่อง  การปิดเรื่อง  ตัวละคร  ฉาก  บทสนทนา  รวมถึงแก่นเรื่องก็ได้ซึ่งขึ้นกับลักษณะของวรรณคดีหรือวรรณกรรมเรื่องนั้นโดยบางครั้งการวิจารณ์วรรณคดีอาจเกิดจากประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่นักวิจารณ์มองเห็น
 
แนวทางการวิจารณ์ทฤษฎีโครงสร้าง
               การวิจารณ์วรรณกรรมโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างนั้นมีแนวทางดังต่อไปนี้
      ๑.ทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของวรรณกรรม
                                แนวทางการวิจารณ์ในทฤษฎีโครงสร้างนั้นผู้วิจารณ์ต้องศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบวรรณกรรมแล้วดึงจุดเด่น จุดด้อยที่สนใจมาวิจารณ์  ซึ่งองค์ประกอบวรรณกรรมก็ประกอบไปด้วย
                                ๑.๑ โครงเรื่อง   โครงเรื่อง  คือ  การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง  เหตุการณ์เหล่านั้นต้องมีความหมายต่อเนื่องรวมถึงบทบาททั้งหมดที่ตัวละครแสดงออกในเรื่อง
                                ๑.๒ การเล่าเรื่อง
                                ๑.๓ ตัวละคร   ตัวละคร  คือ  ผู้ดำเนินเรื่อง
                                ๑.๔ แก่นเรื่อง   แก่นเรื่องหรือสารัตถะ  ความคิดหลักของเรื่อง  คือสาระสำคัญที่ผู้แต่งมีจุดประสงค์ต้องการสื่อมายังผู้อ่าน  สาระสำคัญนั้นมักจะเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความหยั่งรู้  เข้าใจและเป็นข้อคิดเตือนใจ  แนวการวิเคราะห์แก่นเรื่อง  นอกจากจะดูว่าผู้เขียนต้องการจะสื่ออะไรแล้ว  ต้องดูว่ามีความสมจริงและมีคุณค่าหรือไม่
                                ๑.๕ ฉาก   หมายถึง  สถานที่ที่ตัวละครเกี่ยวข้อง  ซึ่งเป็นบ่อเกิดของพฤติกรรม  เหตุการณ์หรือการดำเนินชีวิตของตัวละคร  ซึ่งการวิจารณ์ฉากจะมุ่งสนใจในเรื่อง  ความจริงความสมจริงหรือจินตนาการ
                                ๑.๖ ปรัชญาการนำเสนอ   ปรัชญาการนำเสนอ  หรือลัทธินิยม  หมายถึง  แนวความคิดหรือภาพรวมที่กวีหรือนักเขียนมีเป้าหมายที่จะนำเสนอเนื้อหาสาระในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะในทางวรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก  การทำความเข้าใจในปรัชญาการนำเสนอจะเป็นพื้นฐานทำให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิดเพื่อนำมาพิจารณาและตรวจสอบวิเคราะห์วิจารณ์ต่อไป  วรรณคดีและวรรณกรรมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดต่างๆ ทั้ง  โบราณนิยม  จินตนิยม  สัจนิยม  ประทับใจนิยม  แสดงออกนิยม  ธรรมชาตินิยม  สังคมนิยม  อิสระนิยม  สัญลักษณ์นิยม  ธรรมนิยม  เหนือนิยม  เหนือจริงนิยม  ผสมผสานนิยมข้อมูลนิยม
                    ๒. ดึงจุดเด่น  จุดด้อย  จากโครงสร้างหรือองค์ประกอบมาวิจารณ์
                                การดึงจุดเด่น  จุดด้อย  หมายถึง  เมื่อเราอ่านวรรณกรรมแล้ววิเคราะห์โครงสร้างแล้วเราจะรู้ว่าวรรณกรรมที่เราอ่านมามีจุดเด่น  จุดด้อย  อย่างไร  มีอะไรที่น่าประทับใจ  น่ายกย่อง  น่านำมาอธิบายบอกกล่าวแก่ผู้อ่านบทวิจารณ์  หรือมีอะไรที่ไม่เหมาะสม  สมควรปรับปรุงแก้ไข  อาจมีเพียงประเด็นเดียวหรือองค์ประกอบเดียว  หรือหลายองค์ประกอบก็ได้  โดยเลือกพิจารณาแล้วนำเอามาวิจารณ์
                   ๓. ปฏิบัติการวิจารณ์
                                เมื่อพิจารณาเลือกโครงสร้างหรือประเด็น  หรือองค์ประกอบแล้วให้นำมาวิจารณ์  โดยการวิจารณ์ที่ดีต้องมีการยกตัวอย่าง  อธิบายเสริมให้ผู้อ่านบทวิจารณ์ได้เข้าใจยิ่งขึ้น  ดังนั้นการวิจารณ์ที่ดีต้องมีแนวทาง
 
สรุป
                การวิจารณ์วรรณกรรมโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้าง  เป็นการมุ่งพิจารณาองค์ประกอบหรือโครงสร้างของวรรณกรรม  โดยชี้จุดเด่นหรือจุดด้อย  พร้อมกับเสนอข้อสังเกตแก่ผู้อ่านโดยอาจวิจารณ์โครงสร้างครบองค์ประกอบ  หรือบางองค์ประกอบก็ได้  โดยแนวทางการวิจารณ์คือต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของวรรณกรรม  ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง  การเล่าเรื่อง  ตัวละคร   แก่นเรื่อง  ฉาก  ปรัชญา  แล้วดึงจุดเด่นจุดด้อยจากโครงสร้างหรือองค์ประกอบมาวิจารณ์  และปฏิบัติการวิจารณ์ตามแนวคิดทฤษฎี  พร้อมแสดงทัศนะของผู้วิจารณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น