วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

โวหารภาพพจน์

        โวหาร คือ การใช้ถ้อยคำอย่างมีชั้นเชิง เป็นการแสดงข้อความออกมาในทำนองต่างๆ เพื่อให้ข้อความได้เนื้อความดี มีความหมายแจ่มแจ้ง เหมาะสมน่าฟัง ในการเขียนเรื่องราวอาจใช้โวหารต่างๆ กัน แล้วแต่ชนิดของข้อความ(สมถวิล วิเศษสมบัติ. ๒๕๔๔ : ๑๒๙)
                      โวหารภาพพจน์ คือ กลวิธีการนำเสนอสารโดยการพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูด หรือเขียนให้แปลกออกไปจากภาษาตามตัวอักษรทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ เกิดความประทับใจ เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน

อุปมา คือ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มี ความหมายเช่นเดียวกับ คำว่า"เหมือน" เช่น ดุุจ ดั่ง ราว ราวกับ เปรียบ ประดุจ เฉก เล่ห์ ปาน ประหนึ่ง  เพียง เพี้ยง พ่าง ปูน ฯลฯ
 
อุปลักษณ์ ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน แต่เป็นการเปรียบเทียบ สิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง
อุปลักษณ์จะไม่กล่าวโดยตรงเหมือนอุปมา แต่ใช้วิธีกล่าวเป็นนัยให้เข้าใจเอาเอง ที่สำคัญ อุปลักษณ์จะไม่มีคำเชื่อมเหมือนอุปมา
 
ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์ คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกันมากล่าว อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

อติพจน์ หรือ อธิพจน์ คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อเน้นความรู้สึก ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้งภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด เพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน
 
บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต คือการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด ไม่มีวิญญาณ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ อิฐ ปูน  หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น ต้นไม้ สัตว์โดยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์(บุคลาธิษฐาน มาจากคำว่า บุคคล+อธิษฐาน หมายถึง อธิษฐานให้กลายเป็นบุคคล)

สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป

นามนัย คือการใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใด สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง คล้ายๆสัญลักษณ์ แต่ต่างกันตรงที่ นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าว ให้หมายถึงส่วนทั้งหมด
 

สัทพจน์ หมายถึง ภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ เช่น  เสียงดนตรี เสียงสัตว์ เสียงคลื่น เสียงลม เสียงฝนตก เสียงน้ำไหล ฯลฯ  การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริงๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น