วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

การรับสารด้วยการฟัง

การฟัง
    คือ การรับรู้ความหมายจากเสียงที่ได้ยิน เป็นการรับสารทางหู ส่วนการได้ยิน 
เป็นจุดเริ่มต้นของการฟังเป็นเพียงการกระทบกันของเสียงกับประสาทหูตามปกติ

จุดมุ่งหมายของการฟัง            
    ๑.เพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน การฟังประเภทนี้ทำให้มนุษย์คงความสัมพันธ์ที่ดีตลอดไปทำให้มนุษย์คงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ตลอดไป
    ๒.เพื่อความเพลิดเพลิน เป็นการฟังเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด จัดเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมประเภทนันทนาการได้
    ๓.เพื่อรับความรู้ เป็นการฟังเรื่องราว ข่าวสาร วิชาการ ข้อเสนอแนะ ผู้ฟังต้องจดจำสาระและใช้ความคิด วิเคราะห์ ตีความ สังเคราะห์ และประเมินคุณค่าตามลำดับ
    ๔.เพื่อได้คติชีวิตและความจรรโลงใจ
จรรโลงใจ คือ การยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นทั้งในทางความดี ความงาม ความจริง และความรู้ มีผลให้คนมีศีลธรรม คลายความดุร้ายลง ความรู้ทำให้เราพ้นจากความงมงาย


การฟังให้สัมฤทธิ์ผล
    ฟังให้สัมฤทธิ์ผล หมายถึง ฟังให้ได้รับความสำเร็จ การฟังให้สัมฤทธิ์ผลจะมีระดับสูงหรือต่ำ มากน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ โอกาสของการฟัง และระดับขั้นของการฟัง
ดังนั้นขั้นแรกผู้ฟังจึงควร วิเคราะห์โอกาสที่ฟังก่อน

 
โอกาสของการฟัง              
    ๑. การฟังระหว่างบุคคล เป็นการฟังที่ไม่เป็นทางการ เช่นฟังการสนทนา  การสอบถาม คำแนะนำ
    ๒. การฟังในกลุ่มขนาดเล็ก เป็นการฟังกึ่งทางการ เช่นการปรึกษาหารือร่วมกัน วางแนวทางปฏิบัติร่วมกัน
    ๓. การฟังในที่ประชุม เป็นการฟังที่เป็นทางการ ผู้ฟังต้องรักษากิริยามารยาท เช่น ฟังการบรรยาย สาธิต
    ๔. การฟังจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เป็นการฟังที่ไม่เป็นทางการ


ระดับขั้นของการฟังให้สัมฤทธิ์ผล            
    ๑.ทราบว่าจุดประสงค์ได้แก่อะไร
    ๒.ทราบว่าเนื้อความครบถ้วนแล้วหรือไม่//อย่างไร
    ๓.พิจารณาได้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ //เพราะอะไร
    ๔.เห็นว่าสารนั้นมีคุณค่าหรือไม่ อย่างไร โดยใช้ดุลยพินิจ
แล้วผู้ฟังยังสามารถบอกได้อีกว่าสารที่ส่งมามีคุณค่าเพียงใด ในแง่ใดบ้าง
ถ้าสามารถตอบคำถามข้างต้นได้ถือว่าผู้ฟังสามารถฟังได้สัมฤทธิ์ผลสูงมากเป็นพิเศษคำว่า "ดุลยพินิจ" หมายถึง การใช้ปัญญาพิจารณาด้วยความไม่เอนเอียง ปราศจากอคติ เป็นความสามารถที่ค่อย ๆ เจริญขึ้นในตัวบุคคลเมื่อมีโอกาสได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจากบิดามารดา ครู อาจารย์ สภาพแวดล้อมฯลฯ
 
 
 
การฝึกฟังให้สัมฤทธิ์ผล          
    ๑.ฟังเรื่องที่ไม่ยากและไม่ยาวจนเกินไป เช่น ฟังข่าววิทยุ และโทรทัศน์แล้วสามารถจับสาระ ของเรื่องมาเล่าให้ผู้อื่นฟังได้
    ๒.หาโอกาสฟังสิ่งที่มีสารประโยชน์อยู่เป็นนิจ เช่น ฟังรายการสารคดีทางวิทยุและโทรทัศน์ แล้วนำมาวิเคราะห์วิจารณ์กับผู้ที่ได้ฟังรายการด้วยกัน จะช่วยพัฒนาความสามารถในการฟังของเราให้สัมฤทธิ์ผลสูงขึ้น
    ๓.หมั่นฟังการบรรยายหรือการอภิปรายในโอกาสต่าง ๆ เช่น สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ  วันครู วันเด็กฯลฯ
    ๔.บันทึกเรื่องที่ได้ยินได้ฟังไว้เสมอ เพื่อสามารถที่จะเก็บข้อมูล หลักฐานต่างๆที่จะนำมาใช้ ตรวจสอบภายหลัง
 
มารยาทในการฟัง             
    ๑.การฟังเฉพาะหน้าผู้ใหญ่ ผู้ฟังพึงสำรวมกิริยาอาการ สบตากับผู้พูดเป็นระยะๆให้พอหมาะ แต่ไม่ถึงกับจ้องหน้า ไม่ชิงพูดก่อนที่คู่สนทนาจะพูดจบความ ถ้าฟังไม่เข้าใจ
ควรถามเมือผู้พูดพูดจบกระแสความ
    ๒.การฟังในที่ประชุม ในที่ประชุมขณะที่ประธานหรือผู้ร่วมประชุมคนอื่นพูด เราจำเป็นต้องตั้งใจฟัง อาจจดข้อความสำคัญไว้ ไม่ควรพูดกระซิบกับคนอื่นที่อยู่ข้างเคียงไม่ควรพูดแซงขึ้นต้องฟังจนจบแล้วจึงขออนุญาตพูด
    ๓.การฟังในที่สาธารณะ ข้อควรระวังสำหรับการฟังในที่สาธารณะ เช่น โรงละคร โรงภาพยนตร์ มีดังนี้
       ๑)รักษาความสงบ ไม่พูดคุย ไม่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่กำลังดูหรือฟังอยู่ ไม่นำของขบเคี้ยวเข้าไปรับประทาน ไม่นำเด็กเล็กเกินไปเข้าไปชมด้วย
       ๒)ไม่เดินเข้าเดินออกบ่อย ๆ ถ้าจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น ควรเลือกที่นั่งอยู่ริมหรือ ใกล้ประตูทางเดิน
       ๓)ไม่ควรแสดงกิริยาอาการที่ไม่สมควรระหว่างเพื่อนต่างเพศในโรงมหรสพ เพราะเป็นการทำลายค่านิยมทางด้านวัฒนธรรมไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น